เธซเธ™เน‰เธฒเธซเธฅเธฑเธ เธงเธฑเธ•เธ–เธธเธ›เธฃเธฐเธชเธ‡เธ„เนŒ เธ›เธฃเธฐเธงเธฑเธ•เธดเธกเธนเธฅเธ™เธดเธ˜เธด เธเธฃเธฃเธกเธเธฒเธฃ เธเธดเธˆเธเธฃเธฃเธก เธฃเนˆเธงเธกเธšเธฃเธดเธˆเธฒเธ„ เธ•เธดเธ”เธ•เนˆเธญเธกเธนเธฅเธ™เธดเธ˜เธด
เน‚เธ„เธฃเธ‡เธเธฒเธฃเธžเธดเน€เธจเธฉ : เธญเธธเนˆเธ™เธฃเธฑเธเน„เธงเน‰เน‚เธญเธšเน‚เธฅเธ
 
 
 
เธซเธญเธจเธดเธฅเธ›เนŒเธชเธกเน€เธ”เน‡เธˆเธžเธฃเธฐเธ™เธฒเธ‡เน€เธˆเน‰เธฒเธชเธดเธฃเธดเธเธดเธ•เธดเนŒ เธžเธฃเธฐเธšเธฃเธกเธฃเธฒเธŠเธดเธ™เธตเธ™เธฒเธ–
เน‚เธฃเธ‡เธžเธขเธฒเธšเธฒเธฅเธžเธฃเธฐเธกเธ‡เธเธธเธŽเน€เธเธฅเน‰เธฒ
เธฃเธฒเธŠเธงเธดเธ—เธขเธฒเธฅเธฑเธขเธเธธเธกเธฒเธฃเนเธžเธ—เธขเนŒเนเธซเนˆเธ‡เธ›เธฃเธฐเน€เธ—เธจเน„เธ—เธข
เธงเธดเธ—เธขเธฒเธฅเธฑเธขเนเธžเธ—เธขเธจเธฒเธชเธ•เธฃเนŒเธžเธฃเธฐเธกเธ‡เธเธธเธŽเน€เธเธฅเน‰เธฒ
เธเธญเธ‡เธเธธเธกเธฒเธฃเน€เธงเธŠเธเธฃเธฃเธก
เนเธžเธ—เธขเธชเธ เธฒ
เธเธฃเธฐเธ—เธฃเธงเธ‡เธชเธฒเธ˜เธฒเธฃเธ“เธชเธธเธ‚
เธเธฃเธกเนเธžเธ—เธขเนŒเธ—เธซเธฒเธฃเธšเธ
เน‚เธ„เธฃเธ‡เธเธฒเธฃเธเธณเธฅเธฑเธ‡เนƒเธˆ
 
 
ADOBE FLASH PLAYER
ADOBE READER
 

การเลี้ยง  “ ลูกวัยรุ่นยุคไอที ”  
How to Take Care Adolescent in High
Technology and Rapid Information World

 
วิโรจน์     อารีย์กุล

 

 
 
        บทนำ
        ทุกคนทราบความเป็นจริง ที่เป็นธรรมชาติของวัยรุ่นว่าเป็นวัยช่วงต่อระหว่างวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ เป็นช่วงระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย มีลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นหนุ่มสาว ในขณะเดียวกันการพัฒนาการทางด้านอารมณ์ สังคม และจิตใจก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความสับสน ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดประสบการณ์ ขาดทักษะในชีวิตที่สำคัญ ทำให้วัยรุ่นตัดสินใจกระทำหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยไม่คำนึงหรือตระหนักผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการกระทำของตน และช่วงวัยรุ่นถือว่าเป็นระยะเวลาที่มีปัญหาทางด้านจิตสังคม อารมณ์ และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในขณะเดียวกันช่วงวัยรุ่นถือเป็นช่วงที่สำคัญที่จะเรียนรู้ ทักษะ ประสบการณ์ของชีวิตที่สำคัญ เพื่อจะนำไปสู่การเจริญเติบโต การพัฒนาการและวุฒิภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ต่อไปในอนาคต
        สังคมในปัจจุบัน มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปอย่างมากและรวดเร็ว ขณะเดียวกันปัจจัยทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม สถานภาพทางครอบครัว ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่พร้อมที่จะเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อยู่แล้วทำให้ปัญหาของวัยรุ่นทวีความรุนแรงและมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ขณะเดียวกันปัญหาของวัยรุ่นก็มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ฉะนั้นบทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู บุคคลากรทางการแพทย์ รวมถึง บุคคลในหน่วยงานต่างๆ คงจะต้องมีความเข้าใจ เรียนรู้ และปรับตัวเองให้รู้ทันควบคู่ไปกับวัยรุ่นด้วย พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนยังเข้าใจและมองปัญหาของวัยรุ่นว่าไม่น่าเป็นห่วง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะตัวเองก็เคยผ่านช่วงระยะวัยรุ่นมาก่อนก็ยังสามารถเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ได้ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ตระหนักและคำนึงถึงปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของวัยรุ่นในปัจจุบัน รวมถึงตัวของวัยรุ่นเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็ว มีความทันสมัยที่เราเรียกว่า วัยรุ่นยุคไอที เด็กและวัยรุ่น เรียนรู้และถูกหล่อหลอมจากสังคม สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา มากกว่าที่จะได้รับจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองยุคไอทีคงต้องมีแนวทางในการเลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างเหมาะสมเพื่อจะให้วัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ  วัยรุ่นเป็นช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงและเป็นความท้าทายของตัววัยรุ่นเองตลอดจน พ่อแม่ผู้ปกครองและรวมถึงตัวบุคลากรทางด้านการแพทย์ด้วย โดย The American Academy of Pediatrics (AAP) ได้มีข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะให้การดูแลลูกวัยรุ่น ดังนี้
 
  1. พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องมีเวลาให้กับลูกวัยรุ่น ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เพราะในสภาพของสังคมในปัจจุบันพ่อแม่มักจะต้องทำงานเพื่อหารายได้มาสู่ครอบครัว และยังเป็นครอบครัวเดียวทำให้มีเวลากับลูกวัยรุ่นน้อยลง คงจะต้องปรับเปลี่ยนหาเวลาที่ได้พูดคุย พบปะกับเขาเหล่านั้น อย่างชัดเจน และมากขึ้นถึงแม้วัยรุ่นให้ความสนใจและใช้เวลาส่วนใหญ่ร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ แต่ไม่ได้หมายถึงความไม่ต้องการเวลาที่จะพูดคุยพบปะร่วมกับครอบครัว จริงๆ เขายังต้องการอยู่
  2. พ่อแม่ควรพยายามหาเวลาที่จะอยู่ตามลำพังกับลูกวัยรุ่น ถึงแม้ว่าในบางครั้งลูกจะแสดงออกว่าไม่ต้องการจะพูดคุยหรืออยู่ตามลำพังกับพ่อแม่ก็ตาม เราจะต้องหาเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม เพื่อเป็นการเปิดประตู หรือแสดงเจตนาว่า เราพร้อมที่จะพูดคุยอยู่ตามลำพังกับลูก พ่อแม่พร้อมเสมอ และต้องมีการกระตุ้นและย้ำเตือนเขาอย่างสม่ำเสมอหรือบ่อยๆ
  3. เมื่อลูกวัยรุ่นพูดเราจะต้องให้ความสนใจ พร้อมที่จะรับฟังพยายามไม่ให้มีสิ่งใดมารบกวน พยายามให้เขาอธิบายในสิ่งที่เขายังไม่เข้าใจ กรณีที่เราไม่มีเวลาที่จะรับฟังพูดคุยกับวัยรุ่นเมื่อเขาต้องการที่จะพูดคุยในขณะนั้น ผู้ปกครองควรได้กำหนดเวลาที่แน่นอนที่เราและวัยรุ่นสะดวกที่สามารถพบปะพูดคุยกันได้
  4. ให้เกียรติยอมรับและเข้าใจในความรู้สึกของวัยรุ่น ในความเป็นจริงเราอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากความคิดของวัยรุ่น แต่เราแสดงออกถึงความให้เกียรติและรับฟังในสิ่งที่วัยรุ่นพูดหรือคิด ไม่แสดงออกถึงความดูหมิ่นเหยียดหยามหรือดูถูก ในมุมมองแนวคิดหรือการแสดงออกของวัยรุ่นว่าไร้เหตุผล เป็นความคิดแบบเด็กๆ ความคิดแบบโง่ๆ ในบางครั้งเราคงจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาความรู้สึกผิดหวังของวัยรุ่นได้ แต่เราอาจจะแสดงออกถึงความรู้สึกให้เกียรติห่วงใยเขาเพียงแต่เราพูดว่าเราพร้อมที่จะรับฟังและเข้าใจในความรู้สึกของเขา
  5. กฎระเบียบกติกาต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติในบ้านของคนในครอบครัวเป็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ มีความจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ระเบียบที่ชัดเจนและต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีข้อยกเว้นไม่ต้องกังวลหรือเกรงกลัวว่าวัยรุ่นจะไม่ชอบ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ในการดูแลวัยรุ่นการมีกฎระเบียบที่จะต้องปฏิบัติเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งในการดูแลวัยรุ่นที่ทุกครอบครัวจะต้องมี
  6. ไม่รู้สึกหมดหวัง ท้อถอย เมื่อวัยรุ่นทำอะไรผิดหรือไม่ถูกต้องหรือยอมแพ้ การที่วัยรุ่นได้กระทำอะไรด้วยตนเองถึงแม้จะทำได้ไม่ดีมีข้อผิดพลาด แต่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขารับผิดชอบในสิ่งที่เขาได้รับมอบหมาย หรือได้กระทำด้วยตนเอง เราควรให้คำแนะนำแก่วัยรุ่นเมื่อจำเป็น พูดแนะนำถึงผลที่เกิดขึ้น
    ตัวอย่าง เช่น กรณีวัยรุ่นไม่เก็บเสื้อผ้าปล่อยรกในห้องนอน
    คุณแม่พูดว่า “ฉันรู้สึกเสียใจที่เห็นเสื้อผ้าของลูกวางเกะกะอยู่บนพื้นห้อง”
    ดีกว่าพูดว่า “ ลูกเป็นคนเหลวไหล เลอะเทอะ”
    พ่อแม่ผู้ปกครองควรจะต้องพยายามต่อรองและเกลี้ยกล่อมประณีประนอม วิธีนี้จะเป็นการช่วยสอนวิธีการแก้ปัญหาให้แก่วัยรุ่นที่ดีวิธีหนึ่ง เพราะการต่อรองหรือการประณีประนอม เป็นวิธีหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงการต่อสู้หรือเผชิญหน้า หรือความขัดแย้งทางใดทางหนึ่ง แต่เป็นทางออกที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่ถูกบังคับให้กระทำ โดยเขายังมีโอกาสต่อรอง หรือโอกาสเลือก ซึ่งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ในบางครั้งมันกลายเป็นเรื่องใหญ่ของวัยรุ่นทำให้เขาปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับความคิดเห็นหรือการกระทำนั้นๆ ในบางครั้งพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรจะหยุมหยิม หรือเอาเรื่องไม่สำคัญเล็กน้อยมาเป็นเรื่องต่อรอง หรือมาเป็นเรื่องถกเถียงกับวัยรุ่น ปล่อยวางและไม่นำมาเป็นข้อกังวล เป็นเพียงเรื่องส่วนน้อยหรือส่วนย่อย ที่เรื่องส่วนใหญ่หรือสำคัญนั้นก็ได้ข้อตกลงตามความมุ่งหมาย หรือวัยรุ่นรับฟังและปฏิบัติตาม
  7. เราควรวิจารณ์หรือตำหนิพฤติกรรมของวัยรุ่นไม่ใช่ตำหนิตัววัยรุ่น หรือตำหนิทัศนคติแนวคิดของเขา
    ตัวอย่าง กรณีวัยรุ่นกลับบ้านดึกเกินเวลาที่กำหนด
    การที่ผู้ปกครองพูดว่า “ คุณมาช้าไม่มีความรับผิดชอบเลย ฉันไม่ชอบวิธีการแบบนี้ ”
    ถ้าผู้ปกครองเปลี่ยนเป็นพูดว่า “ แม่เป็นห่วงกังวลในเรื่องความปลอดภัยที่ลูกกลับบ้านช้า แม่เชื่อมั่นในตัวลูก แต่เมื่อแม่ไม่ได้ข่าวจากลูกว่าลูกอยู่ที่ไหน แม่เกรงว่าอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นกับลูก มีอะไรบ้างที่เราจะช่วยกัน ที่จะช่วยให้ลูกกลับบ้านทันเวลา และรู้ว่าลูกอยู่ที่ไหน และลูกจะกลับบ้านช้ากว่าปรกตินานเท่าใด ”
  8. ในการตำหนิควรได้มีการพูดข้อดีของวัยรุ่นพร้อมไปด้วยไม่ใช่มีแต่ข้อตำหนิอย่างเดียว วิธีนี้จะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้วัยรุ่นเข้าใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องการให้เขาทำ ในขณะเดียวกันวัยรุ่นก็ต้องการที่จะรู้ว่าอะไรบ้างที่พ่อแม่ผู้ปกครองพอใจในสิ่งที่เขากระทำ
    ตัวอย่าง “ แม่รู้สึกภูมิใจที่ลูกสามารถรับผิดชอบงานและทำการบ้านได้ดี แม่อยากให้ลูกช่วยล้างจานหลังรับประทานอาหารเย็นด้วย ”
  9. เปิดโอกาสและอนุญาตให้วัยรุ่นได้เป็นตัวของตัวเองบ้าง ได้กระทำในสิ่งที่เขาต้องการบ้าง ไม่ใช่เป็นแบบที่พ่อแม่ต้องการให้วัยรุ่นเป็น ในเรื่องบางเรื่องที่ไม่มีผลกระทบหรือเสียหายมากนัก เช่น การแต่งตัว ทรงผม เสื้อผ้า พูดภาษาหรือศัพท์ของวัยรุ่น ที่วัยรุ่นเข้าใจความหมาย ฯลฯ ในบางครั้งการที่วัยรุ่นทำตัวแปลกแตกต่างเหมือนท้าทายพ่อแม่ผู้ปกครองนั้นจริงๆ วัยรุ่นไม่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวเพียงแต่ต้องการแสดงว่า เขาเป็นวัยรุ่นที่แตกต่างจากผู้ใหญ่พ่อแม่ แต่อย่างไรก็ตามพ่อแม่ผู้ปกครองคงจะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับสื่อต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัววัยรุ่นไม่ว่า หนัง เพลง วีดีโอ เกมส์ ฯลฯ ว่ามีความเหมาะสมถูกต้องมากน้อยแค่ไหน
  10. พ่อแม่ควรทำตัวเป็นบทบาทของความเป็นพ่อแม่มากกว่าจะทำตัวเป็นเพื่อนหรือคนสนิท(1) ทั้งนี้เพราะวัยรุ่นแตกต่างจากพ่อแม่ และการเป็นพ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการของวัยรุ่น ที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาการและต้องให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ
  11. ไม่รู้สึกอาย กล้าที่จะพูดความจริงกับวัยรุ่นเมื่อทำผิดในฐานะพ่อแม่ หรือสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวัยรุ่นได้ในสิ่งที่พ่อแม่ทำผิดพลาด เพราะในการเลี้ยงดูวัยรุ่นของพ่อแม่บางครั้งก็มีความผิดพลาดได้ไม่ใช่เรื่องรุนแรง พ่อแม่ควรเปิดโอกาสและหาแนวทางที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความผิดพลาดของตนเองเมื่อตอนเป็นวัยรุ่นกับลูก
  12. ควรจะปรึกษาพูดคุยกับกุมารแพทย์ แพทย์ หรือบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับวัยรุ่นเมื่อพ่อแม่คิดว่าตนเองมีปัญหากับลูกวัยรุ่น แพทย์อาจจะมีแนวทางและให้คำแนะนำช่วยเหลือที่จะทำให้พ่อแม่และลูกวัยรุ่นสามารถเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และแก้ไขปัญหาได้

        คำแนะนำดังกล่าวข้างต้นคงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองทราบถึงแนวทางในการที
จะดูแลวัยรุ่น ที่จะช่วยให้การดูแลวัยรุ่นได้ง่ายและมีผลดีมากขึ้น ข้อแนะนำต่างๆ ข้างต้นคงจะต้องมีการปรับแต่งหรือเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมของวัยรุ่นในแต่ละคนแต่ละครอบครัว แต่ละเชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งก็จะมีความหลากหลายและแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามคงเป็นประโยชน์ที่จะนำไปเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติที่จะไปใช้กับวัยรุ่น
        คำแนะนำ เทคนิค และทักษะต่างๆ ในการดูแลวัยรุ่นที่ดีที่สุดคงไม่มี แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นต่อเมื่อผู้นั้นนำไปปฏิบัติจริงกับวัยรุ่น การปฏิบัติจริงหลายๆ ครั้งทำให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนา ประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ สิ่งนี้ถือเป็นบทเรียนที่ดีและสำคัญมากสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับวัยรุ่น และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สุดในการดูแลวัยรุ่น คือ ความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือวัยรุ่น ให้สามารถฟันฝ่ามรสุมของชีวิตในช่วงวัยรุ่นไปให้ได้

 

ข้อควรทราบและความเป็นจริงเกี่ยวกับวัยรุ่นที่พ่อแม่ควรเรียนรู้(2,3,4,5,6)

 
 
  1. วัยรุ่นส่วนใหญ่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ มีเพียง 15% เท่านั้นที่มีความขัดแย้งปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัว(7,8) วัยรุ่นเพียง 20% เท่านั้นที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและอารมณ์(7)
  2. ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นบางส่วนมีพื้นฐานเกิดมาจากในช่วงก่อนวัยรุ่น(9) ที่เด็กได้รับการปลูกฝังเลี้ยงดู ให้มีความรับผิดชอบ ความเชื่อมั่นเป็นตัวของตัวเอง และความภาคภูมิใจในตนเอง จะทำให้เด็กเหล่านี้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นมีปัญหาน้อยหรือแก้ไขปัญหาได้ดี ฉะนั้นการเลี้ยงดูเด็กในช่วงอายุ 5–10 ปี จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญเช่นกันเมื่อเข้าวัยรุ่น อายุ 12–13 ปี บางครั้งพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่วัยรุ่นได้ทัน ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่วัยรุ่นต้องมาพบกับประสบการณ์จริงด้วยตนเอง
  3. พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถกำกับดูแลคอยช่วยเหลือแนะนำวัยรุ่นได้ตลอด ฉะนั้นจะต้องสอนให้เขามีทักษะที่จะคิดตัดสินใจต่างๆ ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เขาแก้ไขปัญหาที่เขาพบได้อย่างถูกต้อง
  4. พ่อแม่ผู้ปกครองบางครั้งมีความวิตกกังวลไม่เชื่อมั่นในตัวของลูกวัยรุ่นมากเกินไป ดูเหมือนว่าเราควบคุมเขาไม่ได้ พ่อแม่มักลืมไปว่าเด็กได้รับการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่มาเป็นระยะเวลาถึง 10 ปี ก่อนเข้าวัยรุ่น
  5. วัยรุ่นหลายคนสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์อันตรายมีภาวะกดดันจากปัจจัยภายนอกหลายอย่าง ไม่ว่า สงคราม ความยากจน อุบัติภัยฯลฯ สามารถฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้มาได้ พบว่าวัยรุ่นพวกนี้เป็นคนง่ายๆ ยอมรับ อารมณ์คล้อยตาม ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากเพื่อน ญาติพี่น้อง สังคมให้โอกาส เป็นคนที่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต และมีความเชื่อมั่นเป็นตัวของตัวเอง(10,11,12)
  6. ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และวัยรุ่น ทำให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาการทางอารมณ์ในด้านบวกและสร้างสรรค์ และยังช่วยส่งเสริมให้ความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น(13)
  7. ความสัมพันธ์ที่ดีจะต้องเริ่มมาจากการสื่อสารที่ดีในครอบครัว ซึ่งลักษณะของสื่อสารที่ดีจะต้องประกอบด้วยการสื่อสารที่มีความชัดเจน (Clarity) มีความสมบูรณ์ (Completeness) และความสมเหตุสมผล (Congruence)
  8. ความภาคภูมิใจในตัวเองของวัยรุ่น พ่อแม่สร้างให้เกิดได้โดยการเรียนรู้ รู้จักลูก เข้าใจอารมณ์ของลูก ค้นหาความถนัดและความโดดเด่นของลูกเข้าใจลักษณะเฉพาะตัวของลูก ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป(2,9) เรียนรู้วิธีการตำหนิ หรือโกรธ เช่น พ่อแม่มีสิทธิ์ที่จะโกรธได้ แต่จะต้องพยายามมีความอดกลั้น มีความยับยั้งชั่งใจ อย่าตำหนิหรือกล่าวโทษขณะโกรธ โดยไม่มีสติ หรือไม่มีเหตุผล ทำให้วัยรุ่นขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะบอกให้วัยรุ่นเข้าใจถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมทั้งหมดของเขา แต่ควรช่วยวัยรุ่นแก้ปัญหาในจุดที่เป็นปัญหาเป็นอันดับแรก และให้กำลังใจแก่เขาก่อน การชมเชยวัยรุ่นในเหตุการณ์ที่ดีเหมาะสม เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ควรชมเชยยกย่องในการกระทำ ความสามารถ ความสำเร็จของวัยรุ่นมากกว่า ชมเชยลักษณะหน้าตา บุกคลิกภาพของวัยรุ่น(3) การแต่งกาย เสื้อผ้าซึ่งเป็นสิ่งภายนอก ไม่ใช่แก่นแท้ของความดี หรือความสามารถที่แท้จริงของวัยรุ่น ทำให้วัยรุ่นหลงเข้าใจผิดไป มีค่านิยมฟุ้งเฟ้อกับสิ่งฟุ่มเฟือยภายนอก การแต่งกายสวยงาม ใส่เสื้อผ้าราคาแพง กินอาหารร้านหรูๆ โดยไม่รู้คุณค่า
  9. วัยรุ่นต้องการความอิสสระไม่ชอบให้ใครมาควบคุมบางครั้งพ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น หรือมีโอกาสเลือกในสิ่งที่เป็นไปได้หรืออยู่ในกรอบที่เรารับได้ไม่มีผลเสีย
    ตัวอย่าง พ่อแม่กำหนดงานบ้านให้วัยรุ่นทำไม่ควรไปกำหนดให้ทำอย่างนี้อย่างนั้นเหมือนถูกกำกับ แต่ควรมอบหมายงานให้ทำโดยกำหนดเวลาปล่อยให้เขาจะทำเมื่อไหร่ ทำอย่างไรก็ได้ แต่บ้านต้องสะอาดก่อน 5 โมงเย็นก่อนแขกมา
  10. การให้คำชมเชยหรือรางวัลในการกระทำ หรือพฤติกรรมที่ดีจะมีผลดีกว่าการตำหนิหรือการทำโทษ และการทำโทษแบบเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาจะเป็นแบบเดียวกัน จุดประสงค์ของการทำโทษในวัยรุ่นเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงพฤติกรรมในอนาคตไม่ใช่ต้องการทำร้ายวัยรุ่น การทำโทษอย่างเหมาะสม จะทำให้วัยรุ่นเรียนรู้ว่าเขาทำผิดจริง เมื่อเขาเชื่อและนับถือผู้ทำโทษ และการทำโทษนั้นอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือเหตุการณ์ที่เหมาะสม การทำโทษนั้นจะได้ผลดี
    ตัวอย่าง : วัยรุ่นไม่ส่งการบ้าน คุณครูทำโทษโดยให้หยุดพักการเรียนเป็นการทำโทษที่ไม่เหมาะสม วัยรุ่นได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีไม่ได้ไปแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ที่ไม่ทำการบ้านส่ง แต่ควรลงโทษโดยการกำหนดให้ต้องทำการบ้านก่อนจะดูทีวี หรือ พูดโทรศัพท์ หรือเล่นกีฬามีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของเขาที่อยากให้เขาเปลี่ยนแปลง
  11. พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องยอมรับความเป็นจริงว่าในที่สุดวัยรุ่นก็จะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เมื่อไหร่เรายอมรับว่าเขาเป็นผู้ใหญ่เมื่อนั้นเขาจะปฏิบัติตัวเป็นแบบผู้ใหญ่ และเล่นบทบาทของผู้ใหญ่
  12. การแก้ไขปัญหาของวัยรุ่น เราจะแก้ไขเฉพาะวัยรุ่นลูกของเราคนเดียวไม่ได้ จะต้องช่วยเหลือแก้ไขวัยรุ่นของคนอื่นด้วย
  13. พ่อแม่พยายามเรียนรู้ที่จะรับฟังวัยรุ่น แสดงให้เขาเห็นว่าเราให้ความสำคัญ การแสดงออกถึงการยอมรับ เข้าใจความรู้สึก เป็นเครื่องมือที่สำคัญทำให้วัยรุ่นเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง
  14. สอนให้วัยรุ่นเขารู้และสำนึกว่าการมีชีวิตอยู่ของคนเรามีคุณค่าอีกหลายๆ ด้าน พ่อแม่รู้ดีว่าการมีชีวิตอยู่ในโลกไม่ใช่เรื่องง่ายมันมีคุณค่าอีกมากมาย และไม่มีอะไรในโลกที่จบลงง่ายๆ เหมือนวัยรุ่นคิด
    ตัวอย่าง : เขาไม่ได้เป็นนักกีฬาของโรงเรียน ไม่ได้เป็นอยู่ในทีมเชียร์ของโรงเรียน ชีวิตนี้ดูหมดสิ้นไม่มีความหมาย ซึ่งวัยรุ่นบางคนคิดสั้นๆ แบบนี้ พ่อแม่ควรให้กำลังใจเขายอมรับฟังความคิด เข้าใจความรู้สึกของวัยรุ่นบอกวัยรุ่นที่ผิดหวังว่า.....เขายังมีโอกาสอีกหลายครั้งในชีวิต ถึงแม้ในบางครั้งมันเป็นไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมันอาจถูกต้องก็ได้
  15. พ่อแม่ต้องมีความอดทนต่อพฤติกรรมของลูก ความผิดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เขาไม่ควรถูกตัดสิทธิ์หรือไม่ได้รับสิทธ์บางอย่างเมื่อทำผิดในครั้งแรก ควรเปิดโอกาสให้เขาได้ลองทำบ้างโดยปรกติวัยรุ่นทำอะไรที่พ่อแม่ไม่รู้ ไม่ได้บอกมาก่อนและในบางครั้งวัยรุ่นทำดูเหมือนไม่สนใจในสิ่งที่พ่อแม่พูด เหมือน Catatonic schizophrenia แต่จริงๆ แล้ววัยรุ่นได้ยินทุกๆ คำที่พ่อแม่พูด
  16. ในการทำโทษวัยรุ่นพ่อแม่ผู้ปกครองควรคำนึงข้อแนะนำดังต่อไปนี้

    16.1 ไม่ควรดุหรือทำโทษขณะโกรธ
    16.2 การทำโทษควรทำเร็วที่สุดที่สามารถทำได้
    16.3 การทำโทษไม่ควรจะนานและรุนแรงเกินกว่าเมื่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหายไปแล้วหรือที่จะเกิดขึ้น
    16.4 ถ้าเป็นไปได้ควรให้โอกาสวัยรุ่นแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในการลงโทษเขาว่าควรเป็นแบบไหน
    16.5 การทำโทษต้องมีความแน่นอนสม่ำเสมอไม่เลือกปฏิบัติ
    16.6 การทำโทษตัววัยรุ่นไม่ใช่คนในครอบครัวหรือคนอื่น
    16.7 การทำโทษมุ่งเน้นไปที่การกระทำหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไม่ใช่ตัววัยรุ่น หรือผู้กระทำผิด

  17. ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะสมบูรณ์ ไม่ใช่โตแต่ตัวประกอบด้วย(3,4)

    17.1 จะต้องมีการสื่อสารที่ดีกับคนในครอบครัว (Good family communication)
    17.2 ส่งเสริมให้วัยรุ่นมีความพึงพอใจในตนเอง (Enhancing the teenager’s self-image)
    17.3 สอนให้เขามีการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล (Teaching effective decision-making)
    17.4 ปลูกฝังให้เขามีระเบียบวินัย (Implement effective discipline)

        ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ที่ดูแลวัยรุ่นพยายามเรียนรู้และส่งเสริมปัจจัยดังกล่าวข้างต้นให้เกิดขึ้นก็จะช่วยหล่อหลอมและปลูกฝังให้วัยรุ่นสามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะและคุณลักษณะที่เหมาะสม

 
 

        สรุป
        การดูแลวัยรุ่นยุคใหม่ หรือยุคไอที คงไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะวัยรุ่นแต่ละสังคม เชื้อชาติ ศาสนา ก็มีความแตกต่างและหลากหลาย ขณะเดียวกันในวัยรุ่นแต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกัน (All individual are different) รวมถึงบริบททางสังคม สภาพแวดล้อม สถานะภาพของครอบครัว สภาวะเศรษฐกิจ ค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทำให้การดูแลวัยรุ่นในแต่ละยุคสมัยคงจะต้องมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งมีผลต่อพฤติกรรม และอารมณ์ของวัยรุ่น นำไปสู่ปัญหาของวัยรุ่นในด้านต่างๆ การดูแลวัยรุ่นเพียงเพื่อให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่คงไม่ยาก แต่การดูแลวัยรุ่นเพื่อหวังผลให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพนั้นคงเป็นสิ่งไม่ง่ายนัก แต่คงจะไม่ยากเกินไป ถ้าหากเราเรียนรู้ที่จะเข้าใจเขา นำความรู้ประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตมาเป็นข้อคิด และแนวทางในการดูแล ขณะเดียวกันก็ศึกษาหาแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำให้การดูแลวัยรุ่นยุคใหม่ ไม่ให้เสียคนไปก่อนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ การดูแลวัยรุ่นยุคใหม่ ไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่ของพ่อแม่ครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นภาระหน้าที่ของคนทุกๆ คน ในสังคมต้องช่วยกันดูแลและปกป้องพวกเขา ตลอดจนปัจจัยต่างๆทางสังคมจะต้องเอื้อเกื้อกูลวัยรุ่นให้อยู่ในกรอบที่ถูกต้องเหมาะสมด้วยเพราะวัยรุ่นยุคใหม่ในวันนี้คือผู้ใหญ่ยุคไอทีในอนาคต
        สิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นในการดูแลวัยรุ่นยุคไอที คือ ความรัก ความผูกพัน ความสัมพันธ์ที่ดี มีเวลาพร้อมรับฟัง รู้ทันเหตุการณ์ ให้โอกาสสร้างสรรค์ ยึดมั่นความพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข มุ่งเน้นคุณธรรม รวมพลังทุกหน่วย ด้วยความมุ่งมั่นจริงใจ เพื่ออนาคตวัยรุ่นไทย ก้าวไกลสร้างสรรค์

 
     
     
     
เธซเธ™เน‰เธฒเธซเธฅเธฑเธเธงเธฑเธ•เธ–เธธเธ›เธฃเธฐเธชเธ‡เธ„เนŒเธ›เธฃเธฐเธงเธฑเธ•เธดเธกเธนเธฅเธ™เธดเธ˜เธดเธเธฃเธฃเธกเธเธฒเธฃเธเธดเธˆเธเธฃเธฃเธกเธฃเนˆเธงเธกเธšเธฃเธดเธˆเธฒเธ„เธ•เธดเธ”เธ•เนˆเธญเธกเธนเธฅเธ™เธดเธ˜เธด
© Copyright 2010 : The Children's Foundation, Phramongkutklao Hospital - Under Her Royal Highness Princess Bajrakitiyabha : All Rights Reserved.
Designed By www.SG.in.th